ไม่เชื่ออย่าลบหลู่!! เปิดอ่านดู? ความเชื่อโบราณ ของพิธีกรรมแต่งงานกับนางไม้
พิธีกรรมแต่งงานกับนางไม้
เป็นความเชื่อโบราณของชาวไทยในหมู่บ้านต้นมะม่วงหมู่ที่ ๔ ตำบลสทิงหม้อ
อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ที่มีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนานรุ่นต่อรุ่น
เพราะเชื่อว่ามีหญิงสาวรูปงามสถิตอยู่ในต้นไม้ใหญ่หน้าวัดมะม่วงหมู่ โดยได้มีการสร้างรูปปั้นหญิงสาวแต่งกายงดงามขนาดเท่าคนจริงไว้ในบริเวณนั้นด้วย
ซึ่งสำหรับคนในหมู่บ้านนี้
หากใครที่มีเรื่องทุกข์ใจหรือเรื่องเดือดร้อนในชีวิต
ก็จะพากันไปบนบานศาลกล่าวขอให้นางไม้ช่วยเหลือ
โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องแก้บนด้วยการให้เข้าพิธีแต่งงานกับนางไม้
หลังจากได้สิ่งที่ต้องการตามที่ขอไว้แล้ว
หากเป็นผู้หญิงก็จะต้องแต่งกายเป็นชายเข้าพิธีแต่งงานเช่นกัน
อีกทั้งยังมีความเชื่ออีกอย่างที่คนในหมู่บ้านนี้นิยม
คือ การฝากตัวเป็นบุตรหลานของนางไม้ เพื่อให้ชีวิตแคล้วคลาดปลอดภัย
นางไม้คุ้มครองดูแลนั่นเอง
นอกจากนี้หากลูกหลานผู้ชายคนใดในครอบครัวที่ได้ทำพิธีฝากตัว
มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือช่วงอายุครบกำหนดบวช
ก่อนบวชชายผู้นั้นจะต้องทำพิธีแต่งงานกับนางไม้เสียก่อน
แล้วจึงจะสามารถบวชหรือเข้าพิธีแต่งงานกับหญิงอื่นได้ตามปกติ
อีกทั้งหากในอนาคตชายผู้นั้นมีบุตรชายคนโตก็จะต้องทำพิธีแต่งงานกับเจ้าแม่สืบแทนตนเองด้วย
ทำให้การแต่งงานกับนางไม้จึงกลายเป็นเรื่องที่ต้องทำสืบทอดกันไปตลอดสายสกุล
และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นลูก หลานหรือเหลนก็ตาม
สำหรับการจัดพิธีการนั้นจะปฏิบัติเช่นเดียวกับการแต่งงานทั่วไป
คือ มีขันหมาก เงิน ทอง และเครื่องบูชาอย่าง หัวหมู สุรา เป็ด ไก่ และผลไม้
พิธีแต่งงานสามารถทำได้เฉพาะวันอังคารและวันเสาร์เท่านั้น
เจ้าบ่าวต้องแต่งกายเรียบร้อยสวยงามและเหน็บกริชติดตัวไปด้วย
พร้อมทั้งมีการจัดขบวนขันหมากกันแบบครึกครื้น โดยมีเจ้าพิธีเป็นผู้ทำให้
ปัจจุบันแม้สังคมจะเจริญขึ้น
แต่พิธีกรรมดังกล่าวก็คงยังมีอยู่และปฏิบัติต่อกันมาไม่เปลี่ยนแปลง
เพราะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในหมู่บ้านนี้
loading...